วันอังคารที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

บู่ทราย บู่จาก บู่ทอง บู่เอื้อย บู่สิงโต



บู่ทราย บู่จาก บู่ทอง บู่เอื้อย บู่สิงโต








ชื่อ ปลาบู่
ชื่อวิทยาศาสตร์ Oxyeleotris marmoratus
ชื่อสามัญ MARBLED SLEEPY GOBY, SAND GOBY
ชื่ออื่น บู่ทราย บู่จาก บู่ทอง บู่เอื้อย บู่สิงโต


ลักษณะหรือลักษณะพิเศษ


   ปลาบู่ ลำตัวค่อนข้างกลม ส่วนหางค่อนข้างแบน ปากกว้างเฉียงขึ้นข้างบนเล็กน้อย นัยน์ตาเล็กโปนกลมตั้งอยู่ค่อนไปทางบริเวณส่วนหัว ถัดริมปากเล็กน้อยมีรูจมูกคู่หน้าเป็นหลอดยื่นขึ้นมาติดกับร่องเหนือริมฝีปาก ครีบหลังมีสองอัน ครีบหางกลมมน เคลื่อนไหวช้าในระดับกลางน้ำ แต่จะปราดเปรียวเมื่ออยู่บนพื้นดินก้นแหล่งน้ำและสามารถหยุดการเคลื่อนไหวได้อย่างกระทันหัน 
   ตามปกติแล้วในตอนกลางวันปลาบู่จะทรงตัวนิ่งไม่เคลื่อนไหว ทำให้บางคนเข้าใจว่าปลาหลับ โดยปกติปลาบู่จะฝังตัวอยู่ในพื้นโคลนหรือพื้นทราย กินลูกกุ้งลูกปลาและหอยเป็นอาหาร เป็นปลาที่กินจุ สามารถกินอาหารหนักเท่ากับน้ำหนักของมันต่อวันและทุก ๆ วัน ขนาดลำตัวทั่วไปยาว 20 - 30 เซนติเมตร แต่ขนาดใหญ่ที่สุดมีความยาวถึง 60 เซนติเมตร

แหล่งที่พบ
พบแพร่กระจายอยู่ในแม่น้ำ ลำคลอง บึง ทั่วทุกภาคของประเทศไทย ในปัจจุบันมี ผู้นิยมเลี้ยงปลาชนิดนี้ในกระชังที่แขวนลอยอยู่ในแม่น้ำทางแถบจังหวัดอุทัยธานี นครสวรรค์ และอยุธยา ส่วนจังหวัดกำแพงเพชรพบมากในแม่น้ำปิง


ความสัมพันธ์กับชุมชน
ปลาบู่เป็นปลาที่มีเนื้อนุ่ม รสดี เป็นปลาที่มีก้างน้อย แต่คนไทยไม่นิยมกินเพราะ รังเกียจผิวหนังซึ่งมีลักษณะคล้ายหนังงู และมีความเชื่อถือเกี่ยวกับนิทานปรัมปราว่า เป็นปลาซึ่งกลายร่างมาจากคน ส่วนคนจีนนิยมรับประทานเพราะเชื่อว่าให้พลังทางเพศ โดยทั่วไปนำมาทำอาหารจำพวกนึ่ง ต้มยำ หรือต้มเค็ม


ความสำคัญทางเศรษกิจ
ชาวบ้านมีรายได้จากการจับปลาบู่ตามธรรมชาติมาขาย และมีอาชีพเลี้ยงปลาบู่ในกระชัง ปัจจุบันปลาบู่เป็นที่ต้องการของร้านอาหารเพื่อปรุงอาหารจำหน่ายแก่ลูกค้า ปลาบู่จึงเป็นปลาเศรษฐกิจของไทยอีกชนิดหนึ่ง และสามารถส่งไปขายยังต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน จีน สิงคโปร์ ทำให้มีรายได้เข้าประเทศปีละเป็นร้อยล้านบาท








การเพาะเลี้ยงปลาบู่ทราย
นานาสัตว์น้ำ กับ อาจารย์เสน่ห์ ผลประสิทธิ์


ขณะนี้มีอาชีพเลี้ยงปลาบู่ในกระชังอยู่ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล ผลการเลี้ยงได้ผลบ้าง ไม่ได้ผลบ้าง แต่ก็พอยึดเป็นอาชีพเลี้ยงตัวได้ แต่มีปัญหาสำคัญคือ ลูกพันธุ์ปลาบู่ เพราะเดี๋ยวนี้หาได้ยาก ส่วนมากซื้อต่อจากชาวประมงที่อยู่ในอ่างเก็บน้ำเขื่อนภูมิพล กว่าจะรวบรวมลูกปลาได้พอเลี้ยงได้ 1 กระชัง ต้องใช้เวลาหลายวัน ลูกปลาที่ได้ก็มีขนาดไม่เท่ากัน เมื่อเลี้ยงไปสักพักหนึ่งปลาก็ลดจำนวนลง เพราะตัวใหญ่กินตัวเล็ก
ถามว่าจะแก้ปัญหานี้อย่างไร ถ้าจะเพาะพันธุ์เองจะมีโอกาสเป็นไปได้หรือไม่ จะยากเกินสติปัญญาหรือไม่
ก็คิดถูกทางแล้ว เพราะการเลี้ยงสัตว์น้ำไม่ว่าจะเป็นสัตว์น้ำหรือสัตว์บก การเพาะพันธุ์เองเป็นวิธีที่ถูกต้องครับ แม้ว่าจะเป็นเรื่องยุ่งยาก ละเอียดอ่อน ต้องอาศัยหลักวิชาการและเทคนิคอย่างมากก็ตาม แต่ถ้าทำได้ก็ให้ผลตอบแทนคุ้มค่าทีเดียว นอกจากจะได้ลูกพันธุ์ที่มีคุณภาพดีและประหยัดค่าขนส่งแล้ว หากมีลูกปลาเหลือก็ยังขายให้คนอื่นๆ ได้ด้วย ก็จะได้กำไรจากส่วนนี้ไปบ้างแล้ว เพราะลูกพันธุ์ปลาบู่ไม่ค่อยมีคนเพาะขาย เนื่องจากลูกปลาบู่ในวัยอ่อนนั้น อนุบาลให้รอดชีวิตได้ค่อนข้างยาก และเติบโตช้า ก็เลยไม่มีใครอยากจะเพาะพันธุ์ขาย


1. ลักษณะทั่วไป
ปลาบู่ทราย (Oxyeleotris marmorata) จัดว่าเป็นปลาบู่ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในบรรดาปลาบู่ทั้งมวล ขนาดใหญ่ที่สุดที่เคยพบ มีความยาวถึง 60 เซนติเมตร รูปร่างกลมยาว คล้ายปลาช่อน แต่ค่อนข้างอ้วนป้อมกว่า สีและลายผิดจากปลาช่อนพอประมาณ คือสีของลำตัวปลาบู่จะออกเป็นสีน้ำตาล หรือน้ำตาลอมแดง มีลวดลายสีน้ำตาลอ่อนแซมสลับอยู่เป็นระยะ ส่วนหัวมีจุดสีดำประปราย ปากกว้างใหญ่ ภายในปากมีฟันแหลมซี่เล็กๆ เรียงอยู่บนขากรรไกร 1 แถว เพื่อใช้จับเหยื่อซึ่งเป็นกุ้งขนาดเล็กและลูกปลา


2.
การแพร่กระจาย (Distribution)ปลาบู่ทราย เป็นปลาที่สามารถพบได้ทั่วไปในแหล่งน้ำจืด หรือน้ำกร่อยเล็กน้อย ทั้งในน้ำนิ่ง เช่น หนอง บึง และในน้ำไหล เช่น แม่น้ำลำคลองทั่วไป ในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้แก่ บอร์เนียว เกาะสุมาตรา อินโดนีเซีย มาเลเซีย จีน และไทย ซึ่งจะพบแพร่กระจายพันธุ์อยู่ทั่วไปในแม่น้ำเจ้าพระยา ปากน้ำโพ บึงบอระเพ็ด แม่น้ำลพบุรี แม่น้ำท่าจีน นอกจากนี้ ยังพบในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ต่างๆ เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนบางลาง อ่างเก็บน้ำบางพระ และในทะเลน้อย จังหวัดสงขลา ซึ่งปลาบู่มักแพร่ขยายพันธุ์และเจริญเติบโตได้ดีในอ่างเก็บน้ำที่สร้างขึ้นใหม่ เช่นเดียวกับปลากินเนื้ออื่นๆ



3.
อาหารและนิสัยการกินอาหาร

ปลาบู่ทราย เป็นปลากินเนื้อ (carnivorous) อย่างแท้จริงในธรรมชาติ ปลาบู่ทรายจะกินกุ้งฝอย กุ้งน้ำจืดชนิดอื่นๆ และลูกปลาตามลำดับ ปลาบู่ทรายจัดว่าเป็นปลากินเนื้อที่มีนิสัยการกินอาหารแปลกไปกว่าปลากินเนื้อชนิดอื่นๆ คือ แทนที่จะไล่ล่าเหยื่อ กลับพรางตัว หรือฝังตัวอยู่ในพื้นโคลนหรือพื้นทรายก้นน้ำ เหลือแต่ลูกตาโผล่ขึ้นมาเพื่อคอยสังเกตเหยื่อที่จะผ่านเข้ามาใกล้แล้วโผขึ้นมาจับกินเป็นอาหารอย่างรวดเร็ว ด้วยนิสัยอย่างนี้ จึงอาจจะเป็นสาเหตุหนึ่งที่ปลาบู่มีการเจริญเติบโตช้ากว่าปลากินเนื้อชนิดอื่นๆ

4.
การสืบพันธุ์
4.1
ความแตกต่างเพศ
เมื่อสังเกตจากลักษณะภายนอก จะเห็นความแตกต่างระหว่างเพศของปลาบู่ได้ชัดเจน กล่าวคือ ปลาบู่เพศผู้จะมีติ่งเนื้อขนาดเล็กอยู่ใกล้รูทวาร ส่วนปลาบู่เพศเมีย จะมีติ่งเนื้อรูปสามเหลี่ยมขนาดใหญ่กว่า ลักษณะคล้ายถ้วยน้ำชาอยู่ใกล้รูทวาร เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ส่วนปลายอวัยวะเพศทั้งของเพศผู้และเพศเมียจะบวมขึ้น มีสีชมพูหรือสีแดง ยิ่งมีสีเข้มมากขึ้นเท่าใด ยิ่งใกล้วันผสมพันธุ์มากขึ้นเท่านั้น

4.2
การเจริญพันธุ์ และฤดูกาลวางไข่ (maturation and spawning season)ปลาบู่โตเต็มวัยเมื่อมีความยาวประมาณ 30 เซนติเมตรขึ้นไป แต่จากการศึกษาเกี่ยวกับชีววิทยาของปลาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจในอ่างเก็บน้ำบางพระ จังหวัดชลบุรี พบว่า ขนาดของปลาบู่ที่สามารถขยายพันธุ์ได้มีขนาดตั้งแต่ 8 เซนติเมตรขึ้นไป และมีการศึกษาการเจริญเติบโตของอวัยวะเพศของปลาบู่พบว่า ปลาเพศเมียที่มีรังไข่ (ovary) แก่เต็มที่มีขนาดความยาวสุดปลายทาง 12.5 เซนติเมตร น้ำหนัก 34 กรัม และเพศผู้มีถุงน้ำเชื้อ (testes) แก่เต็มที่มีความยาว 14.5 เซนติเมตร หนัก 44 กรัม ปลาบู่จะเริ่มสร้างอวัยวะเพศภายในตั้งแต่เดือนมกราคมซึ่งในระยะแรกยังไม่สามารถแยกออกได้ว่าเป็นรังไข่หรือถุงน้ำเชื้อ เมื่อถึงเดือนมีนาคมจึงจะแยกออกได้โดยรังไข่จะมีจุดสีขาวเล็กๆ แล้วเจริญเป็นเม็ดไข่ต่อไป แต่ถ้าเป็นถุงน้ำเชื้อก็จะเป็นสีขาวทึบขึ้นจากเดิม รังไข่ที่แก่จัดมีสีเหลืองเข้มมีเม็ดไข่อยู่เต็มและมีเส้นเลือด (ovarian arteries) มาหล่อเลี้ยง ส่วนถุงน้ำเชื้อที่แก่จัดจะมีลักษณะเป็นสายและมีรอยหยักเล็กน้อยและมีสีขาวทึบ
ปลาบู่สามารถวางไข่ได้เกือบตลอดทั้งปี ยกเว้นในช่วงฤดูหนาวตลอดฤดูกาลวางไข่นั้น ปลาบู่สามารถวางไข่ได้ประมาณ 3 ครั้ง โดยคำนวณจากการเก็บข้อมูลการวางไข่ของแม่ปลาบู่จำนวน 150 คู่ ที่สถานีประมงน้ำจืดจังหวัดปทุมธานี ในปี 2527 ได้รังไข่ตลอดปีจำนวน 507 รัง

4.3
พฤติกรรมการผสมพันธุ์และการวางไข่ (mating behavior and spawning)จากการสังเกตการผสมพันธุ์ของปลาบู่ในธรรมชาตินั้น พบว่า ปลาบู่ตัวผู้จะหาสถานที่ในการวางไข่ ได้แก่ ตอไม้ เสาไม้ ทางมะพร้าว ฯลฯ แล้วทำความสะอาดวัสดุดังกล่าว หลังจากนั้นตัวผู้จะเข้าเกี้ยวพาราสีพร้อมไล่ต้อนตัวเมียให้ไปที่รังที่เตรียมไว้เพื่อการวางไข่ โดยธรรมชาติแล้วปลาบู่มีการจับคู่ผสมพันธุ์กันเป็นคู่ไม่เหมือนกับปลาตะเพียนที่ไล่ผสมกันเป็นหมู่ ปลาบู่ส่วนใหญ่เริ่มมีการผสมพันธุ์ช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง แล้วแต่ความพร้อมของคู่ผสมพันธุ์ตั้งแต่ตอนค่ำจนถึงตอนเช้ามืด ซึ่งทราบได้จากพัฒนาการของไข่ปลาบู่ที่รวบรวมได้ในตอนเช้า มาเปรียบเทียบย้อนหลังกับผลการศึกษาคัพภวิทยาที่ได้มีผู้ทำการศึกษาวิจัยไว้


ธรรมชาติของปลาบู่นั้นผสมพันธุ์แบบภายนอกตัวปลา (external fertilization) คือ ตัวเมียปล่อยไข่ออกมาติดกับวัสดุแล้วตัวผู้ปล่อยน้ำเชื้อออกมาผสม โดยที่ไข่ปลาบู่จะติดกับตอไม้ เสาไม้ หรือวัสดุอื่นๆ ที่ปลาบู่สามารถวางไข่ติดและตัวผู้จะเฝ้าดูแลไข่โดยใช้ครีบหูหรือครีบหางพัดโบกไปมา ไข่ที่ได้รับการผสมจะฟักเป็นตัวภายในเวลา 28 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 25-27 องศาเซลเซียส

4.4
ความดกของไข่ (fecundity)ปลาบู่เป็นปลาที่มีรังไข่แบบ 2 พู (bilobed) และจากการสุ่มนับจำนวนไข่ โดยวิธีการสุ่มตัวอย่างเปรียบเทียบความยาวลำตัวและน้ำหนักรังไข่ พบว่า ปลาบู่ที่มีความยาวมาตรฐาน (standard length) = 15.2 เซนติเมตร มีน้ำหนักรังไข่ 1.6 กรัม และมีไข่ทั้งสิ้น 6,800 ฟอง และปลาที่มีความยาว 21.5 เซนติเมตร มีน้ำหนักรังไข่และจำนวนไข่ = 4.7 กรัม และ 36,200 ฟอง ตามลำดับ นอกจากนี้ ยังมีรายงานฉบับอื่นเพิ่มเติมอีกว่า แม่ปลาบู่ขนาดความยาว 21.0-27.5 เซนติเมตร และมีน้ำหนักระหว่าง 158-440 กรัม มีจำนวนไข่ 5,300-59,000 ฟอง

5.
การเพาะเลี้ยงปลาบู่ทราย
การเพาะเลี้ยงปลาบู่ นับวันจะประสบปัญหาเรื่องพันธุ์ปลาที่จะนำมาเลี้ยงมากขึ้นเรื่อยๆ แต่เดิมการเลี้ยงปลาบู่ใช้วิธีช้อนลูกปลาตามรากหญ้า รากพันธุ์ไม้น้ำในลำคลอง หนองบึง แต่เนื่องจากสภาพแวดล้อมเสื่อมโทรมลงเป็นลำดับ และจากการจับปลาที่ใช้เครื่องมือผิดประเภทและจับมากเกินไป ในปัจจุบันการเลี้ยงปลาบู่ต้องการลูกปลาจำนวนมากในการเลี้ยงแต่ละครั้งและยังต้องมีขนาดใกล้เคียงกันอีกด้วย ทำให้ต้องหันมาเพาะเลี้ยงแทน เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว การเพาะพันธุ์ปลาบู่เท่าที่ผ่านมามี 2 วิธี คือ 
1.
วิธีการฉีดฮอร์โมน และ
2.
วิธีการเลียนแบบธรรมชาติ 
เป็นที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การเลี้ยงปลาบู่ส่วนใหญ่นิยมเลี้ยงกันในกระชังมากกว่าเลี้ยงในบ่อดินและบ่อซีเมนต์ ดังนั้น ในเรื่องการเลี้ยงจะบรรยายเน้นหนักไปทางการเลี้ยงปลาบู่ในกระชัง



1.
การเพาะพันธุ์
ในอดีตการเพาะขยายพันธุ์ปลาบู่ด้วยวิธีฉีดฮอร์โมนผสมเทียมยังได้ผลไม่ดีเท่าที่ควร และใช้เวลามากในการรอให้ปลาบู่วางไข่ในแต่ละครั้ง อีกทั้งไม่สามารถนำมาดำเนินการให้เป็นเชิงพาณิชย์ได้ เพราะมีความยุ่งยากในการจัดการ ต่อมาทางสถานีประมงน้ำจืดจังหวัดปทุมธานีได้พัฒนาการเพาะพันธุ์ปลาบู่จนสามารถเป็นเชิงพาณิชย์ได้สำเร็จ โดยเน้นการเพาะพันธุ์วิธีเลียนแบบธรรมชาติ ซึ่งให้จำนวนรังไข่ได้มากกว่าวิธีการเดิม และสามารถอนุบาลลูกปลาบู่โดยการใช้อาหารธรรมชาติมีชีวิตได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้น ในบทนี้จะกล่าวถึงวิธีการเพาะพันธุ์ปลาโดยวิธีเลียนแบบธรรมชาติเป็นส่วนใหญ่ รวมทั้งการอนุบาลด้วยอาหารธรรมชาติมีชีวิต ตามลำดับต่อไป



1.1
การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์
ในการเพาะขยายพันธุ์ปลาบู่ให้ได้ลูกปลาที่แข็งแรงเติบโตดีและให้ได้อัตรารอดสูงนั้น นอกจากวิธีการและเทคนิคการอนุบาลแล้ว ปัจจัยสำคัญเริ่มแรกอีกปัจจัยหนึ่งคือ การคัดเลือกพ่อแม่พันธุ์ที่ดีซึ่งมีผลให้อัตราการฟักดี อัตราการรอดตายสูง และได้ลูกปลาที่แข็งแรง ดังนั้น พ่อแม่พันธุ์ปลาบู่ที่ดีควรมีลักษณะดังนี้
1.
ควรเป็นปลาวัยเจริญพันธุ์ (mature) เพราะไข่ที่ได้มีอัตราการฟัก และอัตรารอดตายสูง
2.
พ่อแม่พันธุ์ควรมีน้ำหนักอยู่ในช่วง 300-500 กรัม แต่ไม่ควรเกิน 1 กิโลกรัม และไม่ควรเป็นปลาที่อ้วนหรือผอมเกินไป
3.
เมื่อจับพ่อแม่พันธุ์ขึ้นมาจากที่กักขังใหม่ๆ ควรรีบคัดปลาที่มีสีนวลปราดเปรียว และควรเป็นปลาที่ปรับสีสู่สภาพเดิมได้เร็วเมื่อหายตกใจ ไม่ควรคัดพ่อแม่พันธุ์ที่มีสีเหลืองซีดผิดปกติ
4.
เมื่อลูบตามตัวปลาจากหัวไปหางแล้ว รู้สึกตัวปลาลื่นแสดงว่าเป็นปลาที่มีสุขภาพดี
5.
บริเวณตาไม่ขาวขุ่น
6.
ไม่ใช้ปลาที่จับได้โดยการใช้ไฟฟ้าช็อร์ต เพราะเมื่อเลี้ยงไปสักระยะหนึ่งแล้วปลาจะตายมากหรือตายหมดทั้งกระชัง ซึ่งข้อนี้ยากต่อการตรวจสอบ เนื่องจากสภาพภายนอกของปลาไม่ค่อยมีบาดแผลชัดเจน
7.
ไม่มีพยาธิภายนอกหรือเชื้อราเกาะตามลำตัว ถ้ามีปริมาณไม่มากควรกำจัด รักษาและป้องกันก่อนนำไปทำเป็นพ่อแม่พันธุ์
8.
บริเวณครีบอก ครีบหู ครีบหาง และครีบท้องไม่ควรมีบาดแผลฉีกลึกถึงโคนครีบ
9.
ตามลำตัวไม่ควรมีบาดแผลถึงแม้จะเป็นบาดแผลเล็กๆ ก็ตาม เพราะจะทำให้ติดเชื้อโรคและลุกลามถึงตายในที่สุด ถ้าจำเป็นควรรักษาให้หายก่อนนำไปเป็นพ่อแม่พันธุ์




ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:

หนังสือพิมพ์เทคโนโลยีชาวบ้าน



 

1 ความคิดเห็น:

nongtoob1 กล่าวว่า... at 1 พฤษภาคม 2555 เวลา 05:47

ตอนอยู่แม่กลองยังจำได้ถึงรสชาติอร่อยๆของปลาบู่ที่อยู่ในสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติ ไม่ใช่ปลาบู่เลี้ยงแบบสมัยนี้...

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม