วันพฤหัสบดีที่ 3 พฤษภาคม พ.ศ. 2555

ปลานักล่ายี่สกทอง




ปลายี่สกเป็นปลาน้ำจืดชนิดหนึ่ง ที่มีชื่อเรียกแตกต่างกันออกไปตามถิ่นที่อยู่อาศัย เช่นที่แม่น้ำโขงจังหวัดหนองคาย เรียก “ปลาเอิน” หรือ “ปลาเอินคางหมู” ในท้องที่บางแห่งเรียกปลาชนิดนี้ว่า “ปลายี่สกทอง” “กะสก” หรือ “อีสก” บริเวณแม่น้ำน่าน เรียก “ปลาชะเอิน”

ประวัติและถิ่นกำเนิด
ปลายี่สกมีเผ่าพันธุ์เชื้อสายเดียวกับปลาตะเพียน  เช่นเดียวกับปลาตะโกก ปลากะโห้ ปลานวลจันทร์น้ำจืด และปลาสร้อย ในภาคกลางพบปลายี่สกอาศัยอยู่ในแม่น้ำเจ้าพระยา  แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำราชบุรี แม่น้ำป่าสัก แควน้อย แควใหญ่ ภาคเหนือพบมากที่แม่น้ำน่าน จังหวัดอุตรดิตถ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในแม่น้ำโขง ตั้งแต่จังหวัดเชียงราย จังหวัดอุบลราชธานี มีมากในจังหวัดหนองคายและจังหวัดนครพนม ในต่างประเทศ เคยพบในประเทศมาเลเซีย และคาดว่าคงจะพบในประเทศลาว กัมพูชาและเวียดนามด้วย ตามธรรมชาติ ปลายี่สกกินพืชในน้ำเป็นอาหารหลัก และอาจกินสัตว์หน้าดิน ลูกกุ้ง ลูกปู และไรน้ำด้วย
อุปนิสัย
พบปลายี่สกอาศัยอยู่ในแม่น้ำสายใหญ่ ที่พื้นท้องน้ำมีกรวดทราย ระดับน้ำลึก 5-10 เมตร น้ำเย็นใสสะอาด จืดสนิทและเป็นบริเวณที่น้ำไหล วังน้ำกว้างและมีกระแสน้ำไหลวน ลูกปลาจะไปรวมกันอยู่เป็นฝูงตรงบริเวณที่เป็นอ่าวและเป็นพื้นโคลน หนาประมาณ 10-20 เซนติเมตร
พอถึงเดือนตุลาคม ปลาจะเริ่มว่ายทวนขึ้นไปเหนือน้ำเพื่อวางไข่ และจะกลับถิ่นเดิมในเดือนพฤษภาคมหรือพอน้ำเริ่มมีระดับสูงขึ้น ปลายี่สกจะพากันไปอาศัยตามห้วยวังที่มีน้ำลึก กระแสน้ำไหลคดเคี้ยว พื้นดินเป็นดินทรายและกรวดหิน เป็นท้องทุ่ง (คุ้ง) หรือวังน้ำที่กว้างใหญ่ใกล้เขาสงบ น้ำใสสะอาด ลึกตั้งแต่ 5-10 เมตร หมุนเวียนอยู่อย่างนี้ตลอดมา
ลักษณะรูปร่าง
ปลายี่สกมีลักษณะเด่นคือ สีของลำตัวเป็นสีเหลืองนวล ลำตัวค่อนข้างกลมและยาว บริเวณด้านข้างมีแถบสีดำข้างละ 7 แถบ พาดไปตามความยาวของลำตัว ลายตามลำตัวเหล่านี้จะปรากฏเมื่อลูกปลามีความยาว 3-5 นิ้ว บริเวณหัวมีสีเหลืองแกมเขียว ริมปากบนมีหนวดสั้นๆ 1 คู่ มีฟันที่คอหอยเพียงแถวเดียว จำนวน 4 ซี่ เวลากินอาหารทำปากยืดหดได้เยื่อม่านตาเป็นสีแดงเรื่อๆ ครีบหลัง ครีบหู ครีบท้อง ครีบก้น มีสีชมพูแทรกอยู่กับพื้นครีบ ซึ่งเป็นสีเทาอ่อน หางค่อนข้างใหญ่และเว้าลึก
ปลายี่สกเป็นปลาขนาดใหญ่ชนิดหนึ่งในจำนวนปลาน้ำจืดด้วยกัน พบในจังหวัดกาญจนบุรีขนาดใหญ่ที่สุดยาว 1.35 เมตร น้ำหนัก 40 กิโลกรัม


ลักษณะของปลาตัวผู้
1.       มีตุ่มสิว (Pearl spot) ที่บริเวณแก้มและข้างตัวมากกว่าเพศเมีย
2.       ลักษณะช่องเพศเป็นวงรี เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์บีบมีน้ำเชื้อสีขาวไหลออกมา
3.       เกิดแถบสีดำบริเวณด้านข้างลำตัวต่ำจากเส้นข้างตัวชัดขึ้น บริเวณท้องอูมใหญ่ เมื่อสัมผัสจะนิ่มมือ
4.       ลำตัวเรียวยาว
ลักษณะของปลาตัวเมีย
1.       มีตุ่มสิวแต่น้อยกว่าตัวผู้
2.       ลักษณะเพศกลมใหญ่หนา มีสีชมพูปนแดง และแผ่นไขมัน (papillae plate) ขยายเป็นวงล้อมรอบช่องเพศ
3.       ขนาดใหญ่กว่าปลาตัวผู้
4.       ลำตัวอ้วนป้อม ช่องท้องขยายกว้าง

ฤดูวางไข่
ปลายี่สกเป็นปลาที่วางไข่ในฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ปลายเดือนธันวาคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี ปลาเพศผู้มีน้ำเชื้อดีตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ระยะที่ปลาวางไข่มากที่สุด คือ ประมาณปลายเดือนมกราคมถึงเดือนกุมภาพันธ์ หรือถ้านับทางจันทรคติ ประมาณกลางเดือนสาม ในต้นฤดูจะวางไข่ ปลาจะว่ายขึ้นเหนือน้ำไปยังแหล่งวางไข่ในลักษณะคู่ใครคู่มัน เมื่อถึงแหล่งวางไข่ จะรวมกันอยู่เป็นฝูงจับเป็นคู่ๆ เล่นน้ำตามริมตลิ่งในตอนบ่าย จับคู่เคล้าเคลีย และโดดขึ้นเหนือผิวน้ำส่งเสียงดังสนั่น พอพลบค่ำก็ว่ายออกไปวางไข่กลางแม่น้ำในขณะที่ปลาวางไข่ปลาจะเชื่องมากไม่ยอมหนีจากกัน ทำให้ถูกจับได้ง่าย ปลาตัวเมียที่ถูกจับได้ จะมีไข่ไหลออกมา บางครั้งต้องใช้ผ้าอุดไว้ไม่ให้ไข่ไหล ไข่ที่ได้ถ้านำไปผสมกับน้ำเชื้อตัวผู้จะได้รับการผสมดีมาก
แหล่งวางไข่
แหล่งวางไข่ของปลายี่สกตามธรรมชาติ จะต้องมีเกาะหรือแก่งอยู่กลางน้ำ พื้นเป็นกรวดทราย ที่ระดับน้ำลึก 0.5-2 เมตร มีสัตว์หน้าดินชุกชุมมาก บริเวณท้ายเกาะจะต้องมีแอ่ง ซึ่งเป็นที่สะสมอาหารเมื่อปลาพร้อมที่จะวางไข่ ก็ว่ายน้ำออกไปท้ายเกาะตรงบริเวณที่กระแสน้ำไปไหลมาบรรจบกัน โดยแหล่งวางไข่ของปลายี่สกในจังหวัดกาญจนบุรีพบที่แม่น้ำแควน้อย
ลักษณะไข่ของปลายี่สก
ไข่ปลายี่สกเป็นไข่ครึ่งจมครึ่งลอย จะฟักออกเป็นตัวในเวลา ประมาณ 70 ชั่วโมง ที่อุณหภูมิ 21.5-24.0 องศาเซลเซียส ไข่มีสีเหลือง เส้นผ่านศูนย์กลาง 2 มิลลิเมตร เมื่อถูกน้ำจะพองออกเป็น 3 มิลลิเมตร ลูกปลาที่ฟักเป็นตัวใหม่ๆมีความยาวประมาณ 8 มิลลิเมตร


นักล่ายี่สกแห่งลุ่มน้ำแม่กลอง



   ในบรรดาปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ ปลาที่หายาก มีราคาสูง และเนื้ออร่อยรสดีเลิศ เป็นที่ต้องการในหมู่นักชิมทั้งหลาย ก็คือ ปลายี่สก ซึ่งคนในลุ่มน้ำต่างๆ มักเรียกชื่อแตกต่างกันไป เช่น คนในแถบแม่น้ำโขง เรียกว่า ปลาเอิน หรือปลาเอินคางมุม ที่แม่น้ำน่านเรียกว่า ปลาชะเอิน ส่วนในเขตแม่น้ำแควน้อย แควใหญ่ และแม่น้ำแม่กลอง เรียกว่า ปลายี่สกทอง เนื่องจากเกล็ดลำตัวของมันมีสีเหลืองทองนั่นเอง
   ปลายี่สกเป็นปลาเผ่าพันธุ์เชื้อสายเดียวกับ ปลาตะเพียน มีชื่อทางวิทยาศาสตร์ว่า Probarbus julllieni หน้าตารูปร่างเหมือนปลากะโห้ แต่ลำตัวค่อนข้างกลมและยาวเพรียวกว่า อีกทั้งหัวและเกล็ดก็เล็กกว่าด้วย สีสันของเกล็ดลำตัวเป็นสีเหลืองทองสวย มีลายดำทอดยาวตามลำตัวจากหัวถึงโคนหางเจ็ดแถบ บริเวณหัวจะมีสีเหลืองแกมเขียว เยื่อม่านตาเป็นสีแดงเรื่อๆ ครีบอก ครีบท้อง ครีบหลัง ซึ่งมีก้านครีบเก้าอัน และครีบก้นซึ่งมีก้านครีบห้าอันนั้น มีเส้นสีชมพูแทรกอยู่บนพื้นครีบสีเทาอ่อน หางค่อนข้างใหญ่และเว้าลึก ส่วนปากหนาและมีหนวดสั้นๆ หนึ่งคู่ที่ขากรรไกรบน
ปลายี่สกชอบอาศัยอยู่ตามแม่น้ำที่พื้นท้องน้ำเป็นกรวดทราย มีห้วยหรือวังน้ำที่น้ำลึก และใสสะอาด ดังนั้นจึงไม่แปลกที่พบปลายี่สกทองในลำน้ำแม่กลอง ในหน้าแล้งมันจะพำนักอาศัยอยู่บริเวณต้นน้ำในเขตแควน้อย แควใหญ่ พอถึงฤดูฝนเมื่อน้ำไหลหลาก ก็จะว่ายตามกระแสน้ำลงมาหากินในแม่น้ำแม่กลอง เมื่อใดน้ำเหนือเริ่มลดลง ปลายี่สกจึงจะทยอยกลับคืนสู่ต้นน้ำ ซึ่งช่วงระยะนี้เอง ที่ชาวประมงในเขต จ.ราชบุรี ตั้งแต่เขตบ้านโป่ง จนถึง อ.เมือง เคยออกล่าปลายี่สกกันตลอดทั้งลำน้ำ และในจำนวนนักล่าเหล่านั้น เฮียเต็ม กิจประเสริ นักล่าจากบ้านโป่ง วัย 57 ปี ได้ถ่ายทอดประสบการณ์การล่าปลายี่สก ซึ่งบัดนี้เหลือเพียงความทรงจำเท่านั้น
   "พอน้ำมา มันมากับน้ำ กระทบน้ำเค็มปั๊บย้อนกลับเลย มันจะวิ่งกลับเป็นทางของมัน ไม่สะเปะสะปะ เราต้องควานหาทางมันให้เจอ ลงเบ็ดขวางลำน้ำ ดักทางไว้ วันนี้ไม่ติดก็รีบหาทางใหม่ไปเรื่อย ปลามันจะเปลี่ยนทิศทางเดินทุกปี อย่างปียี้กินริม ปีหน้าอาจเลื่อนมากลาง ถ้าเราจับทางเดินได้ ปลาตัวอื่นในฝูงก็จะเดินร่องนี้"
"...ปลามาเป็นชุด แต่ละฝูงเดินตามทางไม่เหมือนกัน ฝูงหนึ่งอาจมีสองสามตัว แต่บ้างครั้งก็ได้ตัวเดียว ผมใช้เบ็ดราวจับ บางคนใช้แห แต่กินมันยาก อย่างคนตัวเมืองราชบุรีคนหนึ่งเขาใช้แหทอด ถูกปลามันดึงตกน้ำตายเลย ปลามันแรง ทอดแล้วไม่ระวัง สายแหพันมือเอาไม่ออก"
   "ผมใช้ข้าวเป็นเหยื่อ เอาปลายข้าวเหนียวกับข้าวเจ้ามาหุง เช็ดน้ำเสร็จขึ้นมาดง เอาลูกตาลสุกมายีเนื้อคลุกเคล้าลงไปในข้าว จะหอมเลย จนบางครั้งผมทำอยู่ แม้..ยังอยากกินเลย แต่เขาไม่ให้ดมนะ..ถือเคล็ด จากนั้นก็ใส่สีผลมอาหารลงไปให้เหลืองสวยเหมือนผลไม้ แล้วใส่ครกตำ ข้าวต้องหุงแบบสุกๆ ดิบๆ หน่อย ตอนที่โขลกบางคนก็ใส่งาหรือใส่กล้วย ยิ่งโขลกยิ่งหอม เพราะงามันแตก แล้วจึงปั้นหุ้มเป็นเหยื่อ เวลาลงน้ำไม่หลุดหานหรอก มีข้าวเหนียวช่วยจับเป็นก้อน สมัยก่อนถ้ามาถามเรื่องเหยื่อ ผมไม่บอกหรอกนะ ของอย่างนี้มันเป็นความลับของคนหาปลา สูตรของใครก็สูตรของมัน"




  "วางเบ็ดแต่ละครั้ง อาจถึงสี่ตัว วันหนึ่งกู้สองหน เอาเรืออกไป ที่หัวเรือเราต้องมีเชือกอีกเส้นหนึ่งผูกไว้ ถ้ารู้ว่าได้ปลาใหญ่ เอาเส้นที่เรือผูกต่อกับเส้นเบ็ด มัดให้แน่นเท่าไหร่ยิ่งดี เพราะเผลอๆ เราต้องปล่อยให้เรือแล่นกับมันแล้วจึงสาวเข้ามา ..สาวทีแรกๆ มันจะตามาเรื่อยๆ แต่หนักเหมือนกับติดกองสวะ พอใกล้ถึงเรือ มันซัดน้ำกระจุยเลย ถ้าเราปล่อยไม่ทัน ถูกมันซัดตกน้ำ พี่ชายผมเคยถูกมันซัด เบ็ดติดของกางเกง ต้องถอดกางเกงออกไม่งั้นตาย เพราะมันจะลากเราไป"
   "การสาวถ้ามันดึง เราต้องรีบปล่อย จนมันหมดแรงจึงสาวใหม่ คือต้องรู้จังหวะ มันดึงเราปล่อย มันหยุดเราสาว เย่อกันไปอย่างนี้จนมันสิ้นแรง หากเราสาวหัวมันพ้นน้ำเมื่อไหร่ มันไม่รอดแล้ว แต่ถ้าหัวมันมุดน้ำ ไปถึงไหนถึงกัน...แรงมันอยู่ที่หัว เราต้องรู้นิสัยปลาว่ามันจะยื้อนานแค่ไหน เคยเย่ออยู่ราวครึ่งชั่วโมงถึงหนึ่งชั่วโมงก็มี ปลาที่จับได้ไม่ค่อยเจอว่ามันมีไข่เท่าไร สมัยก่อนทางนี้ ยี่สกชุมกว่าทางเมืองกาญจน์ เพราะมันล่องลงมาหาอาหาร เดี๋ยวนี้มันลงมาไม้ได้ ติดเขื่อนหมด"
   "เมื่อก่อนช่วงหน้าตลาด จากศาลาประชมคมถึงห้องสมุด มีคนจับปลายี่สกอยู่ห้าหกคน มีแหล่งวางเบ็ดของใครของมัน ทั้งซอยเนียนทองคำเป็นแหล่งชุมนุมคนหาปลา เย็นๆ ก็มานั่งคุยกันก่อนลงเรือกู้เบ็ด ปลายี่สกมันชอบขึ้นกลางคืน โดยเฉพาะคืนเดือนหงาย ปลาว่ายขึ้นเรื่อยๆ จับได้มาก พอจับได้มีคนมาหาซื้อแล้วไม่ต้องส่งขาย เพราะแต่ก่อนมันไม่มีร้านอาหาร ชาวบ้านจะกินก็มาซื้อตอนเช้าๆ เขามาซักผ้าที่แม่น้ำกันเห็นปลาผูกอยู่ที่แพ ก็ถามว่าปลาใครวะ..ซื้อกันไป ยี่สกเมื่อก่อนโลละ 7-8 บาท เดี๋ยวนี้โลละ 200 กว่าบาทแล้ว"


   "ยี่สกถือว่าเป็นเจ้าแห่งปลาเกล็ด ไม่มีคาว เนื้อเหลืออร่อยเหนียวแน่น รสหอมหวาน กลิ่นเหมือนเผือก หนังหนากรุบกรอบ โดยเฉพาะเกล็ด เอาไปทอดแล้วเหมือนข้าวเกรียบเลย ที่สำคัญก้างไม่มาก เพราะตัวใหญ่ คนบ้านโป่งชอบนำไปผัด ต้มยำ ต้มส้ม บ้างก็เอาไปเจี๋ยนไปทอด ปรุงได้หลายอย่าง เดียวนี้ที่ขายเป็นปลาที่ถูกปล่อย เนื้ออร่อยสู้กันไม่ได้ ยี่สกทองเลี้ยงไม่ได้หรอก ตอนนี้ในแม่กลองหาไม่ได้ มีจับได้แต่ทางกาญจน์โน่น"

ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:

ที่มาของข้อมูล
-สุดารา สุจฉายา.(2541). ราชบุรี. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์สารคดี. (หน้า 56-57)

0 ความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น

หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น

 

จำนวนการดูหน้าเว็บรวม