ภาพโดย นนณ์ ผานิตยวงศ์ |
ชื่อวิทยาศาสตร์ Chitala ornata (Gray, 1831)
ชื่อสามัญ Clown featherback
ชื่อท้องถิ่น ปลาตองกราย (ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ) ปลาหางแพน (ภาคเหนือ)
ปลากราย หรือปลาตอง มีลักษณะปากกว้างมาก มุมปากอยู่เลยของหลังลูกตา ในตัวเต็มวัยส่วนหน้าผากจะหักโค้ง ส่วนหลังโก่งสูง ในปลาวัยอ่อนมีสีเป็นลายเสือคล้ายปลาสลาด แต่จะเปลี่ยนเป็นสีเทาเงินและมีจุดกลมใหญ่สีดำขอบขาวที่ฐานครีบก้นตั้งแต่ 3 - 20 ดวง มักอาศัยในบริเวณที่มีกิ่งไม้ใต้น้ำหรือพืชน้ำค่อนข้างหนาแน่น อยู่รวมกันเป็นฝูงเล็ก จับปลาซิวและปลาแปบกินเป็นอาหาร พบในแม่น้ำและหนองบึงขนาดใหญ่ ตั้งแต่แม่น้ำกลองจนถึงแม่น้ำโขง ปัจจุบันพบน้อยลงมาก แต่บางแห่ง เช่น บึงบอระเพ็ด ยังมีอยู่มาก
เนื้อปลากรายเป็นเนื้อที่มีความเหนียว เป็นวัตถุดิบชั้นหนึ่งสำหรับประกอบทอดมันปลา ห่อหมก ลูกชิ้นปลากราย นอกจากนี้ยังนิยมนำมาทำลาบปลากรายหรือชาวอีสานเรียกว่า ลาบปลาตอง ซึ่งมีส่วนผสมเหมือนกับลาบทั่วไปๆ แต่ต่างกันตรงที่กรรมวิธีการทำเท่านั้น โดยจะนำปลากรายมาแล่เป็นชิ้นติดหนัง จากนั้นขูดเอาแต่เนื้อมาโขลกหรือให้เหนียว จากนั้นใช้น้ำต้มก้างและหนังปลาที่ต้มกับน้ำปลาร้า ค่อยๆผสมและคนให้เข้ากันจนเหนียวได้ที่จึงใส่ส่วนผสมทั้งหมดลงไป สามารถรับประทานได้ทั้งแบบดิบและสุก
ลักษณะทั่วไป ปลากรายมีลักษณะลำตัวยาวบาง แบนข้าง ส่วนหัวมีขนาดเล็กเว้าเป็นสันโค้งและแยกออกจากลำตัวเห็นชัดเจนเหนือครีบก้นจะมีจุดสีดำค่อนข้างใหญ่ ประมาณ 5 – 10 จุดเรียงเป็นแถว สีของลำตัวเป็นสีขาวเงิน
ส่วนหลังมีสีคล้ำกว่าส่วนท้อง ขนาดของปลากราย ที่พบส่วนใหญ่ยาวประมาณ70–75 เซนติเมตร
ส่วนลูกปลาที่มีขนาดไม่เกิน9 เซนติเมตร ปลากรายใหญ่สุดที่พบคือ 1 เมตร หนัดถึง 15 ก.ก.จะมีลายสีเทาดำ ประมาณ 10–15 แถบ พาดขวางลำตัว เมื่ออายุประมาณ 80 วันลายจะเลือนหายไปและกลายเป็นจุดสีดำแทน เกล็ดมีขนาดเล็กละเอียด ครีบต่างๆ ทุกครีบเป็นก้านครีบอ่อนทั้งหมด ครีบท้องเล็กมาก
ครีบก้นและครีบหางเชื่อมติดกันรวมเป็นครีบเดียวกัน มีก้านครีบประมาณ 110-135 อัน ครีบหลังเล็ก มีก้านครีบ 8-9 อัน ตั้งอยู่กึ่งกลางหลังลักษณะคล้ายขนนกเสียบอยู่ ครีบอก มีก้านครีบ 15-16 อัน
ครีบท้อง มีก้านครีบ 6 อัน บริเวณสันท้องมีหนามคล้ายฟันเลื่อย 2 แถว จำนวนประมาณ 37-45 คู่
ภาพ ปลากรายเผือก (Albino) ที่มา www.siamensis.org |
อาหาร อาหารปลากรายตามธรรมชาติเช่น ตัวอ่อนของแมลง กุ้ง ลูกปลาขนาดเล็กและสัตว์น้ำอื่นๆ
ปัจจุบันวงการปลาสวยงามหันมาสนใจปลากรายมากขึ้น ส่วนมากจะจับมาจากแหล่งน้ำธรรมชาติตามแม่น้ำ ลำคลอง หนอง บึงขนาดใหญ่ ปลากรายมักจะมีชุกชุมในแหล่งน้ำนิ่งๆ เมื่อผสมพันธุ์วางไข่แม่ปลากรายจะวางไข่ติดกับเสา หลัก ตอไม้น้ำ หรือก้อนหินในน้ำ วางไข่แล้วพ่อแม่ปลาจะช่วยกันดูแลไข่ด้วยความหวงแหน ปลากรายระยะนี้ค่อนข้างดุร้ายคอยโบกแพนหางเฝ้าไข่ไม่ยอมให้ศัตรูเข้าใกล้ ปลากรายเมื่อมีอายุมากๆ จะมีลำตัวยาวเกือบๆ เมตร แต่เดิมจะถูกจับขึ้นมาเพื่อปรุงเป็นอาหาร ขูดเนื้อทำลูกชิ้นหรือทอดมัน แต่ปัจจุบันนำมาขายกันเป็นปลาสวยงามซึ่งสามารถเลี้ยงให้คุ้นเคยและสวยงามดี
การสืบพันธุ์ ลักษณะภายนอกของปลากรายเพศผู้และเพศเมียที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน ได้แก่ ความยาวของครีบท้อง
โดยที่ปลาเพศผู้มีครีบท้องยาวกว่าปลาเพศเมีย ฤดูวางไข่ของปลากรายอยู่ในช่วงเดือน มีนาคม – ตุลาคม ของทุกปี โดยรังไข่เพียงข้างเดียวของเพศเมีย(ที่มีอยู่สองข้าง)จะมีการพัฒนาเพื่อสร้างไข่ในหนึ่งฤดู รังไข่ทั้งสองข้างจะสลับกันสร้างไข่จากปีหนึ่งไปยังอีกปีหนึ่ง เมื่อถึงฤดูผสมพันธุ์ปลาจะเริ่มจับคู่กันและปลาเพศผู้ทำการขุดดินรอบ ๆ
วัสดุที่ทำการวางไข่ให้เป็นหลุม จากนั้นปลาเพศเมียวางไข่ ซึ่งไข่ติดกับวัสดุ เช่น ตอไม้ รากไม้ ท่อปูน ฯลฯ
ปลาเพศผู้เป็นฝ่ายดูแลไข่โดยใช้หางโบกไปมาพัดเพื่อให้ออกซิเจนและป้องกันไม่ให้ตะกอนเกาะติดไข่ ไข่ปลากรายที่ได้รับการผสมจะมีสีเหลืองอ่อนใส มีเส้นผ่าศูนย์กลาง 3.0 มิลลิเมตร และฟักออกเป็นตัวภายในเวลา 6 – 7 วัน ที่อุณหภูมิน้ำ 26-32 องศาเซลเซียส แม่ปลามีความสามารถวางไข่ได้เฉลี่ยปีละ 6.0 ครั้ง พบแม่ปลาวางไข่สูงสุดในช่วงเดือนมิถุนายน-กรกฎาคม จำนวนไข่เฉลี่ยครั้งละ 1,044 ฟอง อัตราการปฏิสนธิประมาณ 75% อัตราการฟักเป็นตัว 70% อัตราการรอดตาย 92% เหลือลูกปลาวัยอ่อนอายุ 5 วันเฉลี่ย 514 ตัว คิดเป็น 3,084 ตัว/แม่/ปี
ขอขอบคุณที่มาของภาพและบทความ:
th.wikipedia.org
mornorfishclub.com
www.fishing108.com
กรมประมง
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น
หมายเหตุ: มีเพียงสมาชิกของบล็อกนี้เท่านั้นที่สามารถแสดงความคิดเห็น